Ruhr Occupation (1923-1925)

การยึดครองรูร์ (พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๖๘)

การยึดครองรูร์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๓-๑๙๒๕ มีสาเหตุมาจากการที่เยอรมนีซึ่งแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ผิดนัดชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามทั้งในรูปของเงินและสิ่งของตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ให้แก่ฝรั่งเศสและเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศผู้ชนะสงครามหลายงวดติดต่อกัน ทำให้ประเทศทั้งสองส่งกองทัพเข้าไปยึดครองภูมิภาครูร์ในดินแดนไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก และเหล็กกล้าที่สำคัญของเยอรมนี เพื่อบีบบังคับเยอรมนีให้ชำระค่าปฏิกรรมสงครามตามสัญญา เหตุการณ์ครั้งนี้แม้ว่าคนงานเหมืองแร่ และโรงงานอุตสาหกรรมของเยอรมนีจะดำเนินการประท้วงอย่างสงบ แต่ก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายแห่งและมีคนตายเป็นจำนวนมาก ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งแก่ฝรั่งเศสและเยอรมนีอย่างมิอาจประมาณได้สหรัฐอเมริกากับอังกฤษจึงเข้ามาเป็นคนกลางจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เพื่อจัดทำแผนดอส์ (Dawes Plan)* ซึ่งเป็นแผนประนอมหนี้ให้แก่เยอรมนี โดยให้เยอรมนีได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากสหรัฐอเมริกาและได้รับการลดหย่อนหนี้ ลงจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้เยอรมนีสามารถใช้หนี้ค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ประเทศต่าง ๆ ต่อไปได้ ฝรั่งเศสและเบลเยียมจึงตกลงถอนทหารออกจากดินแดนไรน์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เหตุการณ์จึงยุติลง

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปิดการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพขึ้นที่พระราชวังแวร์ซาย ชานกรุงปารีส ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ผลของการเจรจาครั้งนี้คือสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งนอกจากมีการจัดระเบียบใหม่ให้แก่ยุโรปหลังสงครามแล้ว ยังมีบทลงโทษเยอรมนีในฐานะผู้แพ้สงครามในหลาย ๆ เรื่องด้วยกันโดยเฉพาะในเรื่องค่าปฏิกรรมสงคราม สนธิสัญญาแวร์ซายได้กำหนดให้เยอรมนีจ่ายให้แก่ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้ชนะสงครามเป็นจำนวนมากในอัตราส่วนต่าง ๆ กัน โดยฝรั่งเศสจะเป็นผู้ได้รับมากที่สุดซึ่งสามารถชำระได้ทั้งในรูปของเงินและทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ถ่านหิน เหล็ก เหล็กกล้า ไม้ นอกจากนี้ สนธิสัญญายังกำหนดให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งกองทหารเข้าไปประจำในไรน์แลนด์ในเยอรมนีซึ่งเป็นเขตปลอดทหาร (demilitarized zone) เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี เพื่อเป็นการคํ้าประกันว่าเยอรมนีจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาแวร์ซาย แม้ชาวเยอรมันส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขต่าง ๆ ของสนธิสัญญาฉบับนี้เพราะเห็นว่าลงโทษเยอรมนีรุนแรงเกินไป แต่ผู้แทนเยอรมนีในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๒)* ก็ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว

 หลังสงครามเยอรมนีอยู่ในสภาพที่อ่อนแอมากและต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด ฉะนั้นเมื่อสนธิสัญญาแวร์ซายมีผลบังคับใช้ เยอรมนีจึงสามารถชำระค่าปฏิกรรมสงครามได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นและเริ่มขาดส่งเรื่อยมา แม้ว่าใน ค.ศ. ๑๙๒๑ คณะกรรมาธิการดูแลการชำระค่าปฏิกรรมสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร (InterAllied Reparations Commission) ได้ทำการประเมินค่าปฏิกรรมสงครามใหม่และลดยอดรวมที่เยอรมนีจะต้องจ่ายให้แก่ประเทศเจ้าหนี้จากจำนวน ๒๖๙,๐๐๐ ล้านมาร์ค ทองคำเยอรมัน มาเป็น ๒๒๖,๐๐๐ ล้านมาร์คทองคำแล้วก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เยอรมนีก็ยังคงขาดส่งหลายงวดติดต่อกัน จนทำให้ผู้แทนฝรั่งเศสและเบลเยียมในคณะกรรมาธิการชุดนี้เรียกร้องให้มีการยึดครองภูมิภาครูร์เพื่อบีบบังคับเยอรมนีให้พยายามหาเงินและสิ่งของมาชำระให้แก่ตนในขณะที่ผู้แทนอังกฤษเสนอให้ลดค่าปฏิกรรมสงครามลงอีกเพื่อเป็นการช่วยเหลือเยอรมนี ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ เยอรมนีขาดส่งไม้จำนวนมหาศาลซึ่งฝรั่งเศสต้องการนำไปใช้ในการบูรณะฟื้นฟูประเทศในช่วงหลังสงคราม ทำให้ฝรั่งเศสพิจารณาว่าเป็นการท้าทายตนเพราะการกำหนดโควตาการส่งไม้ไม่ได้เกินความสามารถของเยอรมนีที่จะจัดส่งให้ได้หากแต่เยอรมนีในสมัยนายกรัฐมนตรีวิลเฮล์ม คูโน (Wilhelm Cuno) ต้องการใช้การงดส่งไม้ให้แก่ฝรั่งเศสเป็นการทดสอบเจตนารมณ์ในการบังคับใช้สนธิสัญญาของมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่ายิ่งกว่านั้น ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ เยอรมนียังขาดส่งถ่านหินเป็นครั้งที่ ๓๔ ในช่วง ๓๖ เดือนที่ผ่านมา ทำให้ความอดทนของฝรั่งเศสหมดลง

 ในตอนแรกนายกรัฐมนตรีเรมง ปวงกาเร (Raymond Poincaré)* ของฝรั่งเศสยังลังเลไม่กล้าตัดสินใจออกคำสั่งให้มีการยึดครองรูร์โดยใช้กำลังทางทหาร เพราะเขาคิดว่าน่าจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่า ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ เขาจึงเสนอให้อังกฤษร่วมมือกับฝรั่งเศสควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่อเยอรมนี แต่มาจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ อังกฤษไม่เพียงแต่ปฏิเสธข้อเสนอของฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาที่ดูเหมือนจะเข้าข้างเยอรมนีคัดค้านนโยบายของฝรั่งเศสอย่างรุนแรง ในที่สุด เมื่อเขาเห็นว่าฝรั่งเศสกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจนถึงขั้นวิกฤติและขาดแคลนถ่านหินที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าอย่างหนัก ปวงกาเรจึงคิดว่าฝรั่งเศสจำเป็นต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเร็ว เพื่อบีบบังคับเยอรมนีให้ทำตามสัญญา พร้อมกันนั้นเขาก็ได้มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงลอนดอนมีสาระสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของฝรั่งเศสตอนหนึ่งว่า อังกฤษมักคิดว่าการที่เยอรมนีไม่กระทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย เพราะเยอรมนีไม่ได้เห็นด้วยกับสนธิสัญญาฉบับนี้แต่ในทางตรงกันข้ามฝรั่งเศสกลับเชื่อว่า การที่เยอรมนีไม่ได้พยายามที่จะปฏิบัติตามสนธิสัญญาแม้แต่น้อยนั้นเกิดจากการที่เยอรมนีไม่ยอมรับว่าเป็นผู้แพ้ และเจตนาจะไม่ทำตามสัญญา

 ปวงกาเรตัดสินใจส่งกองทัพของฝรั่งเศสซึ่งสมทบกับกองกำลังของเบลเยียมเข้าไปทำการยึดครองภูมิภาครูร์ในดินแดนไรน์แลนด์ในวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ โดยอ้างว่าเพื่อเข้าไปควบคุมดูแลการผลิตถ่านหินของเยอรมนีแต่เหตุผลที่แท้จริงคือเพื่อบีบบังคับเยอรมนีให้ใช้หนี้การยึดครองครั้งนี้ฝรั่งเศสและเบลเยียมใช้ทหารถึง ๑๐๐,๐๐๐ นาย ซึ่งเท่ากับจำนวนกำลังพลที่สนธิสัญญาแวร์ซายอนุญาตให้เยอรมนีมีในกองทัพ และเมื่อรวมเข้ากับจำนวนทหารที่ฝรั่งเศสส่งเข้าไปดูแลไรน์แลนด์ในเมืองดึสเซลดอร์ฟ (Dusseldorf) ดูชบูร์ก (Duisburg) และรูรอร์ท (Ruhrort) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๑ ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายแล้วก็ทำให้การยึดครองครั้งนี้กลายเป็นปฏิบัติการทำงทหารครั้งใหญ่ที่เยอรมนีไม่สามารถใช้กำลังกองทัพที่มีอยู่อย่างจำกัดตอบโต้ได้ อย่างไรก็ดี เยอรมนีตอบโต้ทางการทูตว่าเยอรมนีไม่ได้จงใจผิดสัญญาส่งไม้และถ่านหินให้แก่ฝรั่งเศสหากแต่เกิดจากความเข้มงวดของสนธิสัญญาแวร์ซายที่ทำให้เยอรมนีไม่สามารถส่งของดังกล่าวให้ได้เพราะไม่มีจะให้ขณะเดียวกัน การกระทำของฝรั่งเศสก็ทำให้ชาวเยอรมันโกรธแค้นเป็นอย่างมาก ฟริทซ์ ทึสเซิน (Fritz Thyssen) และบรรดาเจ้าของอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ที่ลงทุนในภูมิภาครูร์ได้ร่วมมือกับคนงานเหมืองถ่านหินและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งคนงานรถไฟในภูมิภาคนี้จัดตั้งขบวนการต่อต้านการยึดครองอย่างสงบ โดยปิดเหมืองและโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งตลอดจนเสันทางคมนาคมขนส่งทุกสายเพื่อก่อการนัดหยุดงานและไม่ให้ความร่วมมือกับผู้เข้ายึดครองแต่ประการใดฝรั่งเศสจึงตอบโต้โดยนำคนงานจากฝรั่งเศสเข้ามาทำงานแทนที่คนงานชาวเยอรมันในเหมืองถ่านหิน พร้อมทั้งดำเนินการจับกุมและใช้กำลังทางทหารปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ชาวเยอรมันก็ต่อสู้และก่อความไม่สงบขึ้นในที่ต่าง ๆ เพื่อดักซุ่มโจมตีทหารฝรั่งเศสและเบลเยียมการประท้วงที่เริ่มต้นอย่างสงบจึงกลายเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองทหารฝรั่งเศสและเบลเยียมกับพลเรือนเยอรมันซึ่งเกิดขึ้นทั่วไป ทำให้การยึดครองกลายเป็นการโจมตีของฝรั่งเศส ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก มีผู้ประมาณว่าพลเรือนเยอรมันราว ๑๓๐ คน เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้

 การยึดครองของฝรั่งเศสและเบลเยียมได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาและการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะจากอังกฤษซึ่งได้แสดงท่าทีเห็นใจเยอรมนีมาแต่ต้นได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของฝรั่งเศสทั้งทางการทูตและสื่อมวลชน แต่ฝรั่งเศสก็ได้ตอบโต้อังกฤษโดยให้เหตุผลว่าฝรั่งเศสเข้าไปยึดครองเพราะต้องการเงินมาชำระหนี้ให้แก่สหรัฐอเมริกาและต้องการนำไม้และถ่านหินมาบูรณะฟื้นฟูประเทศโดยเร็วเท่านั้นทั้งยังยํ้าว่าการยอมให้เยอรมนีละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายในเรื่องการชำระค่าปฏิกรรมสงครามจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เยอรมนีล้มล้างสนธิสัญญาทั้งฉบับ รวมทั้งเสริมว่าเมื่อใดก็ตามเงื่อนไขที่ผูกมัดเยอรมนีในสนธิสัญญาแวร์ซายถูกทำลายลง เมื่อนั้นเยอรมนีก็จะนำโลกเข้าสู่สงครามใหญ่อีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีผู้วิจารณ์ว่าการที่ฝรั่งเศสมุ่งที่จะเข้าไปควบคุมศูนย์กลางการผลิตถ่านหินเหล็ก และเหล็กกล้าของเยอรมนีในภูมิภาครูร์นั้นก็เพราะต้องการให้ได้เงินที่เยอรมนีเป็นหนี้อยู่เท่านั้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งกลับเห็นว่าการที่ฝรั่งเศสเข้าไปยึดครองรูร์ก็เพียงเพื่อคํ้าประกันว่าเยอรมนีจะจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นสิ่งของเท่านั้น เพราะว่าในขณะนั้นเงินมาร์คเยอรมันไม่มีค่า เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ มีอัตราสูงมาก ฝรั่งเศสมีแร่เหล็กแต่ขาดแคลนถ่านหินในขณะที่เยอรมนีมีถ่านหินแต่ขาดแคลนเหล็ก ฝรั่งเศสจึงอาจต้องการให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่ตนขาดแคลนเท่านั้น เนื่องจากทรัพยากรทั้ง ๒ อย่างมีค่าควบคู่กันในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของทุกประเทศ

 อย่างไรก็ดี เมื่อฝรั่งเศสและเบลเยียมส่งกองทัพเข้าไปยึดครองรูร์ มหาอำนาจได้จัดตั้งคณะทำงานของฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อควบคุมโรงงานและเหมืองแร่ (InterAllied Mission for Control of Factories and Mines) ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อเป็นการคํ้าประกันว่าเยอรมนีจะส่งถ่านหินให้แก่ประเทศเจ้าหนี้อย่างแน่นอน แต่คณะทำงานชุดนี้ก็ทำงานไม่ได้ผล ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อการยึดครองดำเนินไปนานเข้า ก็ยิ่งทำให้เยอรมนีไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่ประเทศเหล่านั้นได้เพราะเหมืองแร่และโรงงานอุตสาหกรรมของเยอรมนีต้องปิดตัวลงเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ไม่มีการผลิตเกิดขึ้นเลย เศรษฐกิจของเยอรมนีที่ทรุดโทรมอยู่แล้วจึงอยู่ในสภาพใกล้จะล้มละลาย อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อรวมทั้งจำนวนคนว่างงานก็เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๓ สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเมื่อกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนีและควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ชเตรเซมันน์ออกคำสั่งให้ยุติการประท้วงและประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตไรน์แลนด์ แต่กระนั้นความไม่สงบก็ยังคงมีอยู่และขยายวงกว้างออกไปจนกลายเป็นการจลาจลและเกิดความพยายามของคนหลายกลุ่มที่ฉวยโอกาสก่อการรัฐประหารเพื่อล้มล้างสาธารณรัฐไวมาร์ด้วยเหตุผลอื่น ๆ อย่างเช่น กบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* ที่มีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* เป็นผู้นำเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ เป็นต้น รัฐบาลชเตรเซมันน์พยายามปราบปรามการกบฏจลาจลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นจนยุติลงในที่สุด ในขณะเดียวกันเขาก็เปิดการเจรจากับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะกับฝรั่งเศสเพื่อให้ยุติการยึดครองโดยเร็ว

 ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แม้จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในสันนิบาตชาติ (League of Nations)* เนื่องจากการกระทำของฝรั่งเศสถือว่าเป็นการถูกต้องตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย แต่การยึดครองที่ยืดเยื้อของฝรั่งเศสทำให้ประเทศต่าง ๆ เกิดความวิตกกังวลว่าสงครามใหญ่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และให้ความเห็นใจแก่เยอรมนีมากกว่าฝรั่งเศส ในที่สุดในต้น ค.ศ. ๑๙๒๔ สหรัฐอเมริกากับอังกฤษได้ผลักดันคณะกรรมาธิการดูแลการชำระค่าปฏิกรรมสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตรให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งโดยมีชาลส์ จี. ดอส์ (Charles G. Dawes) นายธนาคารชาวอเมริกันเป็นประธานเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบสถานะทางเศรษฐกิจและการเงินของเยอรมนีและจัดทำแผนประนอมหนี้ให้แก่เยอรมนี คณะกรรมการดอส์ (Dawes Committee) ประกอบด้วยผู้แทนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจการคลังจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม และอิตาลี ประเทศละ ๒ คน รวม ๑๐ คน คณะกรรมการชุดนี้จัดทำแผนประนอมหนี้ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “แผนดอส์” เสร็จสิ้นและได้รับการตีพิมพ์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔ แผนดังกล่าวเสนอว่าหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามที่เยอรมนีจะต้องจ่ายให้แก่ประเทศเจ้าหนี้รวมกันจะลดลงจากที่ประเมินไว้ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ มาอยู่ที่ ๑๓๒,๐๐๐ ล้านมาร์คทองคำ และสหรัฐอเมริกาจะให้เงินกู้ยืมแก่เยอรมนีจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เยอรมนีนำไปชำระหนี้ให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส นอกจากนี้ แผนดอส์ ยังกำหนดให้ฝรั่งเศสและเบลเยียมถอนทหารออกจากภูมิภาครูร์โดยเร็ว และกำหนดมาตรการสำคัญอีก ๓ ประการ คือ การชำระหนี้จะเริ่มที่ ๑,๐๐๐ ล้านมาร์คทองคำใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ซึ่งเป็นปีแรก และจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีจนถึง ๒,๕๐๐ ล้านมาร์คทองคำต่อปีเมื่อครบกำหนดเวลา ๕ ปี จะมีการปฏิรูปเงินมาร์คเยอรมันรวมทั้งมีการจัดองค์การของธนาคารกลางเยอรมันใหม่ภายใต้การดูแลของฝ่ายสัมพันธมิตร และแหล่งเงินทุนสำหรับค่าปฏิกรรมสงครามจะรวมทั้งค่าขนส่ง ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร แต่เงินส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับเงินกู้ยืมจากสหรัฐอเมริกา

 ข้อเสนอตามแผนดอส์เป็นการผ่อนปรนและให้ประโยชน์แก่เยอรมนีเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าปฏิกรรมสงครามลงแล้วเงินกู้ยืม ที่จะได้รับจากสหรัฐอเมริกายังจะช่วยสร้างเสถียรภาพของเงินมาร์คเยอรมันให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในตลาดเยอรมันให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เยอรมนีจึงยอมรับแผนดอส์ด้วยความเต็มใจและรับที่จะเริ่มต้นใช้หนี้ค่าปฏิกรรมสงครามต่อไปตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๔ ในขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็ยอมรับเงื่อนไขของแผนดอส์เพราะยิ่งการยึดครองดำเนินไปนานเข้าเศรษฐกิจของฝรั่งเศสก็ยิ่งเสื่อมโทรมลงเนื่องจากฝรั่งเศสต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากให้แก่กองทัพในการยึดครองครั้งนี้ ส่วนหนี้ที่หวังว่าจะได้รับจากเยอรมนีก็ไม่ได้รับ ทั้งยังต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการพัฒนาประเทศในช่วงหลังสงครามเศรษฐกิจของฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๒๔ จึงอยู่ในภาวะวิกฤติและค่าของเงินฟรังก์ก็ลดค่าลงอย่างมากจนขาดเสถียรภาพและเกิดภาวะเงินเฟ้อ ฝรั่งเศสจึงจำเป็นต้องหาทางยุติปัญหาโดยเร็วเช่นเดียวกับเยอรมนีเพื่อไม่ให้สูญเสียไปมากกว่านี้อีกทั้งการยึดครองก็ทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียความเชื่อถือในระดับนานาชาติลงไปมาก เพราะทำให้ฝรั่งเศสถูกพิจารณาว่ากระทำเกินกว่าเหตุและกำลังถือโอกาสเข้าไปยึดครองดินแดนไรน์แลนด์ของเยอรมนี

 เพื่อให้การใช้แผนดอส์เป็นไปตามเป้าหมาย ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ มหาอำนาจได้จัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงลอนดอนโดยได้เชิญเยอรมนีให้เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งชเตรเซมันน์เป็นผู้แทนของเยอรมนี ในการประชุมครั้งนี้นายกรัฐมนตรี เอดูอาร์ แอร์รีโอ (Edouard Herriot)* ผู้แทนฝรั่งเศสได้รับแรงกดดันอย่างมากจากเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งเกรงว่าการชำระค่าปฏิกรรมสงครามตามแผนดอส์จะไม่ได้ผล แอร์รีโอจึงต้องยินยอมผ่อนปรนให้ตามข้อเรียกร้องของชเตรเซมันน์ในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะต้องยอมล้มเลิกสิทธิต่าง ๆ ที่ฝรั่งเศสได้รับจากคณะกรรมาธิการดูแลการชำระค่าปฏิกรรมสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ สิทธิ ในการเข้าไปแทรกแซงหรือควํ่าบาตรในกรณีที่เยอรมนีผิดสัญญาชำระหนี้ สิทธิในการเข้าไปยึดครองทางเศรษฐกิจในภูมิภาครูร์ และสิทธิในการเข้าไปยึดครองทางทหารภายในเวลา ๑ เดือนหลังการขาดส่งค่าปฏิกรรมสงคราม รวมทั้งต้องยอมยกเลิกสัญญาการสร้างทางรถไฟสายเรจี (Régie) ระหว่างฝรั่งเศสกับเบลเยียมด้วย แผนดอส์จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะของเยอรมนีในการยึดครองภูมิภาครูร์ของฝรั่งเศส ทั้งยังเป็นชัยชนะขั้นแรกของเยอรมนีในการขอแก้ไขสนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เยอรมนีต้องการมาแต่ต้น

 ในที่สุด เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ ฝรั่งเศสและเบลเยียมได้ถอนทหารรุ่นแรกออกจากภูมิภาครูร์ และถอนกองทหารรุ่นสุดท้ายออกจากเมืองต่าง ๆ ที่เข้าไปยึดครองอยู่ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ การยึดครองรูร์ในดินแดนไรน์แลนด์จึงสิ้นสุดลง.



คำตั้ง
Ruhr Occupation
คำเทียบ
การยึดครองรูร์
คำสำคัญ
- กบฏโรงเบียร์
- การยึดครองรูร์
- คณะกรรมการดอส์
- คูโน, วิลเฮล์ม
- ดอส์, ชาลส์ จี.
- ทางรถไฟสายเรจี
- ทึสเซิน, ฟริทซ์
- ปวงกาเร, เรมง
- แผนดอส์
- แมกดอนัลด์, เจมส์ แรมเซย์
- แมกดอนัลด์, แรมเซย์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สันนิบาตชาติ
- แอร์รีโอ, เอดูอาร์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1923-1925
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๖๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-